ธรรมะ การยอมรับและความเข้าใจ
แนวคิดที่จะช่วยเหลือให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบ คือ การยอมรับและเข้าใจ ในครอบครัวหนึ่งครอบครัวมีคนหลายคนหรือแม้แต่แค่ สามี ภรรยา อยู่ร่วมกัน ความคิดเห็น และพฤติกรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน
การยอมรับ ในส่วนของเรื่องการยอมรับนี้สามารถแบ่งเรื่องการยอมรับได้ดังนี้
1. การยอมรับพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนในบ้าน หากเราได้อยู่ร่วมกัน ได้รู้นิสัยของแต่ละคนในบ้าน เห็นพฤติกรรมส่วนตัวที่เราอาจจะไม่ค่อยชอบ เช่น ชอบถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง ชอบกินอาหารแล้วเลอะเปรอะเปื้อน ชอบนอนกรน เป็นต้น สิ่งที่เป็นส่วนตัวของแต่ละคนที่ไม่ทำให้เราต้องเดือดร้อนมากมาย หรือเดือดร้อนสังคม เราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น หากเราไม่ฝึกใจให้ยอมรับพฤติกรรมส่วนตัวของกันและกัน หรือของผู้อื่นในครอบครัวได้ ย่อมทำให้เรามีความทุกข์ ขัดแย้งในตัวตนของเขาเกิดเป็นความไม่พึงพอใจ จากความรักก็อาจกลายเป็นความเกลียดชังได้ จึงต้องรีบปรับแก้คือใช้ใจที่ยอมรับเข้ามาช่วยให้เราไม่ต้องเกิดการขัดแย้งกันขึ้นในสังคม
ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีละ เช่นชอบเอาเปรียบคนอื่น ชอบด่าแรงๆ ชอบใส่ร้ายคนอื่น เราจะต้องยอมรับด้วยหรือ? อันเรื่องที่ไม่ดีเหล่านี้ก่อเกิดผลไม่ดีกับสังคมและผู้อื่นเราก็ต้องคอยตักเตือน ว่ากล่าวบ้างเป็นธรรมดา เพราะสิ่งที่ไม่ดีต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมก็ก่อตัวขึ้นจากพฤติกรรมที่ไม่ดีของตน ของบุคคลนั่นเอง ดังนั้นในครอบครัวจึงต้องมีการอบรมสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ชี้ทางที่ดีให้เขาเดินได้เป็นต้น ที่กล่าวเรื่องการยอมรับนั้นเป็นพื้นฐานที่จิตใจของเราเลยให้ยอมรับในพฤติกรรมส่วนตัวในส่วนที่เขาเป็น ไม่ได้เดือดร้อนสังคมอะไร ถ้าเราไม่ยอมรับกันและกันย่อมทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ยาก
2.การยอมรับความคิดเห็นของคนในบ้าน เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องแก้ไข บางบ้านก็มานั่งรวมตัวกันเพื่อหาทางแก้ไข แต่หากบางบ้านก็ผู้นำครอบครัวเป็นผู้จัดการเองทั้งหมด แต่ถ้าเราทำอย่างนั้นคงต้องถูกคนในครอบครัวกล่าวหาว่าเราไม่ยอมฟังคนอื่น เมื่อเกิดผิดพลาดขึ้นมาย่อมเป็นธรรมดาที่เราอาจถูกซ้ำเติม ฉะนั้นแล้วเราควรต้องใช้หลักการยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นในครอบครัวด้วยเสมอ เมื่อเป็นเรื่องของส่วนรวมในครอบครัว เช่น เราจะซื้อตู้เย็นสักเครื่อง เรามาช่วยเลือกช่วยดูร่วมกันและลงความเห็นว่าเอายี่ห้อไหน ขนาดเท่าไหร่ ตกลงเป็นเอกฉันท์ ก็ทำให้การซื้อตู้เย็นในครั้งนี้สบายใจเรา สบายใจคนใช้ร่วมกัน เพราะเราเลือกช่วยกันแล้ว เกิดข้อผิดพลาดอะไรก็ไม่ได้ว่ากล่าวคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าในเรื่องที่กลับกัน เราแอบไปซื้อเพียงคนเดียวไม่ปรึกษากันเลย ถ้ามาใช้แล้วไม่ดีเกิดข้อเสียหายอะไรขึ้นคนที่แย่ที่สุดคือเราอาจต้องถูกว่ากล่าวได้เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆที่พอจะให้เข้าใจในเรื่องการยอมรับในครอบครัว เพื่อให้ลดปัญหาที่มีมากมายในครอบครัวปัจจุบัน ทางออกอีกทางที่จะพอช่วยสังคมในระดับหนึ่งได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงการเขียนบอกกล่าวแต่ถ้าลองนำไปปฏิบัติเชื่อว่าคงจะทำให้ครอบครัวเรามีความสุขขึ้นได้บ้าง และเรื่องการยอมรับยังไปมีผลต่อการปลูกฝังพฤติกรรมของลูกและคนในบ้านให้รู้จักคำนึงถึงความคิดเห็นของคนอื่นด้วย เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมที่ผู้คนมากมายขึ้นพวกเขาก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้นต่อไป
ความเข้าใจ ฟังดูจะคล้ายๆกับการยอมรับ แต่มีข้อแตกต่างกันมากทีเดียว โดยในเรื่องของความเข้าใจจะใช้ความละเอียดมากขึ้น คือเราจะต้องเข้าใจในจิตใจของผู้อื่น หรือคนในครอบครัวเราด้วย เช่น เรารู้ว่าลูกเรามีนิสัยชอบเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว เราก็ให้เวลาเขาได้อยู่คนเดียวบ้าง ไม่ใช่จะต้องคอยไปจู้จี้จุกจิกกับเขามากไปจะก่อเกิดความรำคาญกับผู้อื่นได้ เรารู้ว่าภรรยาเราชอบแต่งตัว แต่งหน้าใช้เวลานาน เราก็ปล่อยเขาได้ทำๆไปบ้าง ไม่ใช่จะเร่งรัด หรือด่าทอกันเพราะเรื่องเหล่านี้ เรารู้ว่าพ่อชอบทำบุญ ทำทาน เราก็พาท่านไปบ้างให้ท่านได้สบายใจ ทุกเรื่องหากเราฝึกใจตนให้เป็นคนเข้าใจจิตใจคนอื่นร่วมด้วย ย่อมเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกัน
บทความยาวมากแล้วจึงต้องพอก่อนในครั้งหน้าจะได้มากล่าวเรื่องของความเข้าใจให้ละเอียดขึ้น ก่อนไปก็ฝากบทกลอนอีกบทให้เป็นแง่คิดและเป็นกำลังใจให้การอยู่ร่วมกันในครอบครัวไม่ว่าเล็กหรือใหญ่อยู่ได้อย่างมั่นคงและมีความสุขคะ

ปัญหาครอบครัวมีอยู่ทั่ว
ไม่ควรกลัวแต่ให้แก้
ปัญหาใดที่ว่าแย่
ร่วมกันแก้ใช่แค่หนี
ร่วมกันเดินร่วมกันคิด
ยอมรับจิตคิดถ้วนถี่
ให้เข้าใจในตัวดี
ทั้งคนที่มีต่างเรา
เมื่อรวมกันมาเป็นบ้าน
เหมือนร่วมงานมิมีเหงา
เมื่อร่วมกันฝันร่วมเรา
ก็ต้องเฝ้าเข้าใจกัน

