ข่าวลวงโลก ดื่มสุรา-เหล้าช่วยแก้หนาว

หลายการวิจัยที่มีออกมาในรอบหลายปีที่ผ่านมายังยืนยันตรงกันว่า แอลกอฮอล์ที่ใครหลายคนเชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและคลายหนาวได้นั้น แท้จริงแล้วเพียงแค่ทำให้ผู้ดื่มแค่รู้สึกถึงความอบอุ่นที่ผิวกายเท่านั้น แต่กลับทำให้อุณภูมิภายในแกนกลางร่างกายลดต่ำลง อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดภาวะ ไฮโปเทอร์เมีย (hypothermia) ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกายและหากรุนแรงก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
การวิจัยอันหนึ่งซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2005 พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงไปอีกด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะว่าแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสูบฉีดเลือดออกไปที่บริเวณผิวหนัง เพื่อกระตุ้นการขับเหงื่อออก ซึ่งอาจทำให้ร่างกายจะรู้สึกถึงความอบอุ่นได้บ้าง แต่ก็ในชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น (หลังจากนั้นกลับทำให้รู้สึกหนาวเพิ่มขึ้นอีก)
การวิจัยอีกอันซึ่งทำโดยสถาบันวิจัยเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมของกองทัพสหรัฐฯ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าสาเหตุหนึ่งที่การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะไฮโปเทอร์เมียนั้น เป็นเพราะว่าแอลกอฮอล์ไปมีผลทำให้กระบวนการสั่นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายถูกขัดขวาง ผลการวิจัยอันนี้ได้รับการยืนยันโดยผลการวิจัยอีกหลายอันซึ่งชี้ชัดว่าการย่อยสลายแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภาวะไฮโปเทอร์เมีย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยัน ดื่มเหล้าแก้หนาว เป็นความเชื่อที่เสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย ในทำนองเดียวกับที่ผลการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น และเน้นย้ำว่า สภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็น ร่างกายจะพยายามรักษาความอบอุ่นในร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ทนต่อสภาวะที่เย็นได้ โดยการลดการไหลเวียนของกระแสเลือดที่ผิวหนังลงเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปที่อวัยวะสำคัญในแกนของร่างกาย แอลกอฮอล์จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่จะทำให้ร่างกายรู้สึก “อุ่น” แต่กลับทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง โดยเพิ่มอุณหภูมิ (เล็กน้อย) ที่ผิวหนัง (ดูได้จากการหน้าแดง ดูมีเลือดฝาด) จนสุดท้ายอาจเกิดภาวะ Hypothermia ได้
จดไว้ : ความรู้สึกหนาวของคนเรานั้นเกิดขึ้นเมื่อ เลือดในร่างกายไหลจากผิวหนังกลับเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เพื่อไปเพิ่มอุณหภูมิที่แกนกลางของร่างกาย ทั้งยังเพื่อรักษาสภาพของอวัยวะต่างๆในร่างกายไม่ให้เสียหายด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราจึงมีผิวหรือริมฝีปากซีดเผือดเมื่อหนาวสั่นมากๆ การสั่นก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายใน
อ้างอิง ส่วนวิจัยปัญหาสุรา สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th