ข่าวลวงโลก ใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมันเสี่ยงมะเร็ง

ความลวง
ไม่ควรใช้กระดาษทิชชู่มาซับน้ำมันจากอาหาร เพราะจะทำให้เราได้รับสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในกระดาษทิชชู่ได้ เนื่องจากกระบวนการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อมาทำกระดาษทิชชู่ ต้องใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน จะมีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายหรือถูกกัดลึกลงไป ซึ่งการทำลายอาจต่อเนื่องหลายวัน การหายใจเอาไอหรือละอองสารยังส่งผลให้ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้จาม ปวดคอ น้ำมูกไหล ปอดอักเสบรุนแรง หายใจขัด การสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง เป็นแผลไหม้และพุพองได้ การกลืนกินทำให้แสบไหม้บริเวณปาก คอ และกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว และมีสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่อาการจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ความจริง
ดร.ภูวดี ตู้จินดา โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กลุ่มเยื่อและกระดาษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Ice Tuchinda” มีใจความโดยสรุปว่ายืนยันว่าการใช้ทิชชูมาซับน้ำมัน ไม่มีสารก่อมะเร็ง หรือสารไดออกซิน หรือมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ออกมาทำลายเนื้อเยื่อตามข่าว เนื่องจากการฟอกเยื่อกระดาษในประเทศไทย ไม่มีการใช้สารคลอรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว มีเพียงโรงงานฟอกเยื่อกระดาษเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ ส่วนโรงงานที่เหลือใช้เพียงสารประกอบคลอรีน หรือคลอรีนไดออกไซด์ในการฟอกเยื่อกระดาษเท่านั้น ซึ่งกระบวนการฟอกแม้จะก่อให้เกิดพิษคือ Ordanically bound chlorine หรือ ที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า AOX แต่ไม่เกิดไดออกซินในกระบวนการฟอกเยื่อ
ทั้งนี้ ตนเคยทำโครงการวิจัยและมีข้อมูล AOX ตกค้างในเยื่อและกระดาษมีตัวเลขจากการวิจัยยืนยันว่าในกระดาษทิชชูนั้น มีปริมาณ AOX ตกค้างน้อยมาก ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณไดออกซินยิ่งน้อยลงไปอีก นอกจากนี้ สารไดออกซินและ AOX ไม่ได้หลุดออกจากกระดาษทิชชูได้ง่ายๆ การสกัดเพื่อการวิเคราะห์ยังต้องสกัดด้วยระยะเวลาที่ยาวนานและที่อุณหภูมิสูงมาก แค่เอากระดาษทิชชูมาซับๆ สารเหล่านี้จึงไม่หลุดตามออกมา
สำหรับการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ NaOH ในขั้นตอนการฟอกเยื่อขาว แต่กรรมวิธีการผลิตเยื่อกระดาษนั้นมีหลายขั้นตอนและใช้น้ำปริมาณมากในการล้างสารต่างๆ ดังนั้น จึงไม่มีโซเดียมไฮดรอกไซด์บริสุทธิ์ตกค้างในปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การใช้กระดาษทิชชู่ ควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ คือ ใช้ภายนอก ไม่สมควรนำมารับประทาน สำหรับการซับน้ำมัน แนะนำว่า ไม่ควรนำทิชชูมาใช้จะดีกว่า

อ้างอิง http://mgronline.com/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000075218